ปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย

001
ปัจจัยบวกที่จะมาเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ก็คงมาจากการเร่งรัดโครงการขนส่งมวลชนระบบรางและการตัดถนนสายใหม่ๆในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภูมิภาค ซึ่งราคาที่ดินมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในทุกเส้นทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพราะความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าที่ออกไปสู่ปริมณฑลเหล่านี้ยังมีอยู่มาก เนื่องจากผู้มีรายได้ปานกลางหรือต่ำไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯได้ โดยสิ่งสำคัญอีกประการที่จะมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปีนี้ คือการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยคาดว่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากเออีซีมากกว่าอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย อาทิ จะมีความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานมากขึ้น พื้นที่จัดตั้งนิคมหรือโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนในด้านที่อยู่อาศัยจะได้ประโยชน์เฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากต่างชาติสามารถซื้อเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ได้

พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค คาดว่าจะเน้นเรื่องราคาเป็นหลักโดยคุณภาพเป็นไปตามระดับราคา ทั้งนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีกำลังซื้อที่ประมาณไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งหมายถึงตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮาส์ ในปีนี้ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างอาจไม่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนที่ดินยังคงแพงขึ้น ดังนั้นราคาที่อยู่อาศัยยังคงปรับเพิ่มขึ้นโดยภาพรวม แต่จะปรับเพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก เนื่องจากมีอุปทานออกใหม่ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคาดหวังในอนาคตที่ดีขึ้น

โดยปัจจัยที่จะเลือกลงทุนในต่างจังหวัดนั้นประกอบด้วยปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัด รายได้ประชากร, นโยบายภาครัฐ, ปริมาณแรงงาน และปริมาณประชากร ตลอดจนปัจจัยพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และราคาที่ดิน โดยการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจนและราคาจะต้องอยู่ในช่วงที่กำลังซื้อส่วนใหญ่สามารถซื้อได้ สำหรับการเปิดเออีซีในช่วงปลายปีนี้จะส่งผลให้จังหวัดเศรษฐกิจพิเศษและจังหวัดการค้าชายแดนเพิ่มความน่าสนใจ เนื่องจากการค้าขายทั้งค้าปลีกและค้าส่งจะคึกคัก รายได้ประชากรจะเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย